โรคซึมเศร้า

คุณมีอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่

--------------------------------------------------------------------------------

  • รู้สึกเศร้าใจ หม่นหมอง หงุดหงิด หรือรู้สึกกังวลใจ ไม่สบายใจ
  • ขาดความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้าง หรือสิ่งที่เคยให้ความสนุกสนานในอดีต
  • น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้น ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป
  • นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินกว่าปกติ
  • รู้สึกผิด สิ้นหวัง หรือรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
  • ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ความจำแย่ลง
  • อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง
  • กระวนกระวาย ไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ
  • คิดถึงแต่ความตาย และอยากที่จะฆ่าตัวตาย

ถ้าหากคุณมีอาการเช่นนี้หลายข้อ เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ คุณอาจจะกำลังเป็นโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าเป็นโรคหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงชีวิตของคนเรา เหมือนกับโรคทางกายอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นนั้นจะเป็นคนอ่อนแอ ล้มเหลว หรือไม่มีความสามารถ แต่เป็นเพียงการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง เกิดได้ทั้งมีสาเหตุ เช่น การสูญเสีย การหย่าร้าง ความผิดหวัง และเกิดได้เองโดยไม่มีสาเหตุใดๆ ซึ่งในปัจจุบันโรคนี้สามารถรักษาหายได้ด้วยการใช้ยา การรักษาทางจิตใจ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

หากมีประวัติการเจ็บป่วยโรคนี้ในญาติของท่าน ก็เพิ่มการป่วยโรคนี้กับสมาชิกอื่นในบ้าน แต่ก็มิได้หมายความว่า จะเป็นกันทุกคน ปัจจัยที่กระตุ้นให้คนที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้   มีโอกาสเกิดอาการก็คือ ความเครียด แต่ทั้งนี้คนที่ไม่มีญาติเคยป่วยก็อาจเกิดเป็นโรคนี้ได้ มักพบว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีความผิดปกติของระดับสารเคมี ที่เซลล์สมองสร้างขึ้น เพื่อรักษาสมดุลย์ของอารมณ์

สภาพจิตใจที่เกิดจากการเลี้ยงดูก็เป็นปัจจัยที่เสี่ยงอีกประการหนึ่ง ต่อการเกิดโรคซึมเศร้าเช่นกัน คนที่ขาดความภูมิใจในตนเองมองตนเอง และโลกที่เขาอยู่ในแง่ลบตลอดเวลา หรือเครียดง่าย เมื่อเจอกับมรสุมชีวิต ล้วนทำให้เขาเหล่านั้นมีโอกาสป่วยง่ายขึ้น

นอกจากนี้ หากชีวิตพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ต้องเจ็บป่วยเรื้อรัง ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดไม่ราบรื่น หรือต้องมีการเปลี่ยนแปลงใน ทางที่ไม่ปรารถนา ก็อาจกระตุ้นให้โรคซึมเศร้ากำเริบได้   สาเหตุที่จะกระตุ้นการเกิดโรคซึมเศร้าที่พบบ่อยก็คือ การมีทั้งความเสี่ยงทางพันธุกรรม ทางสภาพจิตใจ ประจวบกับการเผชิญกับสถานการณ์เลวร้าย ร่วมกันทั้ง 3 ปัจจัย

ยารักษาโรคซึมเศร้า

--------------------------------------------------------------------------------

ในปัจจุบันยารักษาโรคซึมเศร้าแบ่งออกได้หลายกลุ่ม ตามลักษณะโครงสร้างทางเคมีและวิธีการออกฤทธิ์ คือ

กลุ่ม tricyclic (คือยาที่มีโครงสร้างทางเคมีสามวง)
กลุ่ม monoamine oxidase inhibitors เรียกย่อๆ ว่า MAOI
และกลุ่มสุดท้ายคือยากลุ่มใหม่ชื่อ SSRI (serotonin-specific reuptake inhibitor) ซึ่งแต่ละกลุ่มมีข้อดีข้อเสียต่างกัน แต่ประสิทธิภาพการรักษาเท่าเทียมกัน แพทย์อาจเริ่มจ่ายยากลุ่มใดแก่ผู้ป่วย ก่อนก็ได้เพื่อดูผลตอบสนอง เนื่องจากเราไม่อาจทราบก่อนได้เลยว่า ผู้ป่วยคนใดจะ"ถูก"กับยาชนิดใด แล้วแพทย์จะค่อยๆปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับอาการต่อไป

ยารักษาโรคซึมเศร้าออกฤทธิ์โดยปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุลย์ เป็นการรักษาโรคโดยตรง มิใช่เป็นเพียงยาที่ทำให้ง่วงหลับ จะได้ไม่ต้องคิดมากเช่นที่คนมักเข้าใจผิดกัน

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักต้องการหยุดกินยาเร็วกว่าที่ควรเป็น ข้อสำคัญและพึงปฏิบัติที่สุดก็คือ การกินยาอย่างต่อเนื่อง จนกว่าแพทย์จะบอกให้ท่านหยุด ถึงแม้ว่าจะรู้สึกดึขึ้นแล้วก็ตาม ยาบางตัวต้องค่อยๆลดขนาดลง เพื่อให้โอกาสร่างกายปรับตัว

ไม่ต้องกังวลว่า ยารักษาโรคซึมเศร้าเป็นยาที่กินแล้วติดหยุดยาไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ก็เช่นเดียวกับการรักษาโรคอื่นๆ แพทย์อาจให้ตรวจวัดระดับยาให้ถูกต้องกับอาการเป็นระยะๆ

สิ่งที่คุณหลีกเลี่ยงก็คือ การซื้อยากินเองจากร้านขายยา ยืมยาจากเพื่อน หรือกินยาจากแพทย์ท่านอื่นปนกับโรคซึมเศร้า โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ของท่านก่อน เช่นเดียวกับแพทย์คนอื่นหรือหมอฟันด้วยว่า ท่านกำลังกินยารักษาโรคซึมเศร้าอยู่ อย่าวางใจว่า เป็นแค่ยาพื้นบ้านธรรมดา คงไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงอะไรร้ายแรง การดื่มอัลกอฮอล์จากเหล้า เบียร์ หรือไวน์ จะลดประสิทธิภาพของยาลง

ยานอนหลับหรือยาลดความกังวล ไม่ใช่ยาที่สามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้โดยลำพัง อย่างที่กล่าวแล้ว แม้ว่าบางครั้งแพทย์จะสั่งใช้ยาชนิดนี้ควบคู่ไปกับยารักษาโรคซึมเศร้า เพื่อบรรเทาอาการกังวลในระยะต้นของการรักษา และไม่ควร ใช้ยากระตุ้นประสาทหรือยาม้าเพื่อหวังผลให้หายเพลียเพียงชั่วครั้งชั่วคราว

ควรถามแพทย์ทุกครั้งที่ท่านมีปัญหาที่เกิดจากยา หรือเกิดปัญหาที่คิดว่าอาจเกิดจากยา

 

ขอขอบคุณ จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี