ยานอนหลับ
ยานอนหลับในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นยาในกลุ่มที่เรียกกันว่า เบนโซไดอะซีปีน (benzodiazepine, BZD) ยาในกลุ่มนี้มีประมาณ 20-30 ชนิด เช่น แวเลี่ยม (valium), แซแนก (xanax), ทรานซีน (tranxene), ดอร์มิคุ่ม (dormicum) ยาในกลุ่มนี้แต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติและการออกฤทธิ์คล้ายกันมากใช้แทนกันได้ทุกชนิด (เหมือนเป๊ปซี่กับโค๊ก) โดยที่ในขนาดน้อยๆใช้เป็นยาคลายกังวล ขนาดมากๆใช้เป็นยานอนหลับ นอกจากนี้ยาในกลุ่มนี้ยังสามารถมีฤทธิ์เป็นยากันชักและมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้ออีกด้วย แต่ยาบางชนิดในกลุ่มนี้เราใช้เป็นยานอนหลับเท่านั้น ได้แก่ ดอร์มิคุ่ม ฮาลซิออน (halcion) ยูฮิปนอส (euhypnos) โรฮิปนอล (rohypnol) ดาลมาดอร์ม (dalmadorm) ขึ้นกับนโยบายทางการตลาดของผู้ผลิตยานั้นๆ
ความแตกต่างที่สำคัญของยาแต่ละชนิดในกลุ่มนี้คือความยาวในการออกฤทธิ์ ยาบางชนิดออกฤทธิ์ยาวมาก เช่น แวเลี่ยมมีค่าครึ่งชีวิตเกิน 24 ชั่วโมงสามารถออกฤทธิ์ได้ข้ามวันข้ามคืนแต่จะง่วงมากหน่อยในช่วงแรกๆซึ่งจะง่วงนานแค่ไหนยังขึ้นกับขนาดที่กินด้วย ช่วงหลังๆยาในร่างกายเหลือน้อยลงก็จะออกฤทธิ์เป็นยาคลายกังวล บางชนิดก็ออกฤทธิ์สั้นมาก เช่น ดอร์มิคุ่ม ฮาลซิออน ออกฤทธิ์นานเพียง 2-4 ชั่วโมง ยาที่ออกฤทธิ์ยาวปานกลางคือราวๆ 6-8 ชั่วโมงได้แก่ แซแนก อะติแวน (ativan) ริโวทริล (rivotril)
ยาในกลุ่มนี้มีความปลอดภัยสูงมาก ความปลอดภัยสูงหมายความว่ายานี้ไม่มีพิษต่อร่างกาย ยานี้จะไม่ทำลายตับ ไม่ทำลายไต ไม่ทำให้สมองเสื่อม ไม่ว่าจะกินยานี้ในระยะสั้นหรือระยะยาว ในคนที่พยายามฆ่าตัวตายโดยกินยาในกลุ่มนี้เกินขนาดก็มักไม่ตาย อย่างมากก็หลับไปสัก 2-3 วันแล้วก็ตื่นขึ้นมาเองยกเว้นกินยานี้กับแอลกอฮอล์ เพราะยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ที่เดียวกับแอลกอฮอล์ดังนั้นถ้ากินยาในกลุ่มนี้แล้วไปดื่มเหล้าก็จะเมามากกว่าปกติ ถ้าดื่มเหล้าแล้วมากินยาก็จะง่วงมากกว่าปกติ ถ้าดื่มเหล้ามากๆและกินยานอนหลับในกลุ่มนี้มากๆไปด้วยกันยาจะไปกดศูนย์ควบคุมการหายใจในสมองทำให้ ลืมหายใจ โดยที่ไม่รู้สึกอึดอัด! ซึ่งอันตรายมาก
ยาในกลุ่มนี้มีความปลอดภัยสูงมาก คือไม่มีพิษต่อร่างกาย แต่ยาในกลุ่มนี้ทำให้เกิดการเสพติดได้ เสพติด หมายความว่าถ้าติดยานี้แล้วเวลาหยุดยาทันทีก็จะเกิดอาการขาดยาขึ้น (ทำนองเดียวกับอาการ ลงแดง ในคนที่ติดเฮโรอีน) ทำให้กระวนกระวาย กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ คิดกังวลเรื่องต่างๆ การใช้ยาในกลุ่มนี้จะเกิดการเสพติดขึ้นเมื่อกินยาทุกวันติดต่อกันนาน 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป ดังนั้นในผู้ป่วยที่ใช้ยานี้เป็นประจำเวลาจะเลิกต้องค่อยๆลดยาลงช้าๆ
ข้อควรระวังอีกเรื่องหนึ่งในการใช้ยานอนหลับคือยาในกลุ่มนี้จะรบกวนการบันทึกความจำ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะที่ยายังออกฤทธิ์อยู่ในร่างกายบางครั้งผู้ป่วยจะจำไม่ค่อยได้ เช่นผู้ป่วยกินยานอนหลับแล้วเข้านอน ถ้าตื่นขึ้นมารับโทรศัพท์ถึงแม้จะคุยรู้เรื่องดีแต่ตอนเช้าอาจจำไม่ได้ว่าใครโทรมา หรือคุยเรื่องอะไร หรือในรายที่เป็นมากอาจจะจำไม่ได้ว่าได้ตื่นขึ้นมารับโทรศัพท์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่เมื่อยาหมดฤทธิ์ไปแล้วผู้ป่วยจะจำได้ และไม่ทำให้เป็นโรคสมองเสื่อม ดังนั้นถ้ากินยานอนหลับในกลุ่มนี้อยู่แล้วมีเรื่องสำคัญที่ต้องจำอาจต้องจดเอาไว้ด้วยกันลืม
นอกจากยานอนหลับในกลุ่ม BZD แล้วในปัจจุบันยังมียานอนหลับชนิดใหม่ที่ไม่ใช่ BZD ที่เข้าเมืองไทยแล้ว 1 ชนิดคือยาสติลน็อกซ์ (stilnox) และยังมียากลุ่มอื่นๆที่สามารถนำมาใช้แทนยานอนหลับได้อีก ยาสติลน็อกซ์เป็นยานอนหลับกลุ่มใหม่ ออกฤทธิ์ยาวปานกลาง มีความปลอดภัยสูง คือไม่เป็นพิษกับร่างกายเช่นเดียวกับยาในกลุ่ม BZD แต่มีข้อดีกว่าคือไม่เสพติด อย่างไรก็ดีมีผู้ป่วยบางรายที่บอกว่าทำให้หลงลืมได้เช่นกัน ข้อเสียที่สำคัญของยานี้คือยังแพงอยู่ (ราคาเม็ดละ 40 กว่าบาท)
ยากลุ่มอื่นที่สามารถนำมาใช้แทนยานอนหลับได้แก่ยาแก้แพ้ (antihistamine) ยาแก้ซึมเศร้า (antidepressant) ยากล่อมประสาท (major transquilizer) ยาแก้แพ้เช่น คลอเฟ็นนิลามีน (chlorphenilamine) แอคติเฟ็ด (actifed) อะทาแรกซ์ (atarax) ดรามามีน (dramamine) มีผลข้างเคียงที่สำคัญคือกินแล้วจะง่วง ดังนั้นเราสามารถเอามาใช้แทนยานอนหลับได้โดยที่มีความปลอดภัยสูงและไม่เสพติด แต่ยาในกลุ่มนี้ก็มีข้อเสียคือเกิดการดื้อยาง่าย บางคนใช้อยู่ไม่กี่สัปดาห์ก็ไม่ง่วงแล้ว แต่ก็ยังดีที่เมื่อเลิกใช้ไปสักพักก็จะกลับมาใช้ได้ผลอีก
ยาในกลุ่มยาแก้ซึมเศร้ามีหลายชนิดที่ทำให้ง่วงและสามารถนำมาใช้แทนยานอนหลับได้ เช่น ทริปทาน่อล (tryptanol) เดสิเรล (desirel) ไซนีกวน (sinequan) โทลว่อน (tolvon) ที่จริงแล้วฤทธิ์ง่วงเป็นผลข้างเคียงของยาแต่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ในการใช้ยานี้แทนยานอนหลับเราจะใช้ขนาดน้อยๆ น้อยกว่าขนาดที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้ามาก เช่น ถ้าใช้ทริปทาน่อลรักษาโรคซึมเศร้าเราต้องใช้ยาวันละ 75-250 มิลลิกรัมแต่ถ้ารักษาโรคนอนไม่หลับเราใช้ยาเพียง 10-50 มิลลิกรัมต่อวันก็มักจะพอ (ยาเม็ดละ 10 และ 25 มิลลิกรัม) ยาเดสิเรลก็เช่นกัน ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางรายต้องใช้ยาถึงวันละ 600 มิลลิกรัม แต่ในโรคนอนไม่หลับเราใช้ยาเพียง 50-150 มิลลิกรัม (เม็ดละ 50 มิลลิกรัม) ข้อดีของการใช้ยาแก้โรคซึมเศร้ามาแทนยานอนหลับก็คือมันไม่ติด เมื่อหมดความจำเป็นจะต้องใช้ยาแล้วก็สามารถหยุดยาได้ แต่ก็มีข้อเสียบ้างเช่นกันคือยาแก้ซึมเศร้ามักทำให้คอแห้ง ท้องผูก และบางคนจะหน้ามืดง่ายเวลาลุกขึ้นเร็วๆ แต่ผลข้างเคียงเหล่านี้ก็ไม่มีอันตราย ถ้าคอแห้งก็ให้จิบน้ำบ่อยๆ ถ้าท้องผูกก็ให้กินผักผลไม้มากๆ ถ้าหน้ามืดง่ายก็ให้ระวังอย่าลุกพรวดพราด และเมื่อชินต่อยาผลข้างเคียงเหล่านี้จะค่อยๆหายไปเอง
ยากล่อมประสาทบางชนิดก็มีผลข้างเคียงทำให้ง่วงและสามารถนำมาใช้แทนยานอนหลับได้เช่นเดียวกับยาแก้ซึมเศร้า เช่น ซีโรเควล (seroquel) เมลเลอริล (melleril) ลาแก๊คติล (largactil) ยาในกลุ่มนี้ไม่ทำให้เกิดการเสพติดและมีผลข้างเคียงทำให้คอแห้ง ท้องผูก ลุกเร็วๆแล้วหน้ามืดเหมือนยาแก้ซึมเศร้าแต่มีข้อดีคือยาในกลุ่มนี้มีฤทธิ์คลายกังวลสูงและช่วยให้มีการควบคุมอารมณ์ดีขึ้นด้วย
สรุป ยานอนหลับในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นยาในกลุ่ม BZD ซึ่งมีความปลอดภัยสูงมากแต่ถ้ากินติดต่อกันนานๆ (2-3 สัปดาห์ขึ้นไป) จะเกิดการเสพติดได้ ยานอนหลับชนิดใหม่คือสติลน็อกซ์ก็มีความปลอดภัยสูงมากเช่นเดียวกันแต่ไม่ทำให้เกิดการเสพติดด้วยแต่ราคายังแพงอยู่ ยาแก้แพ้ ยาแก้ซึมเศร้า และยากล่อมประสาทบางชนิดสามารถนำมาใช้แทนยานอนหลับได้ดีโดยไม่ทำให้เกิดการเสพติด
ขอขอบคุณ นพ.สเปญ อุ่นอนงค์
www.infomental.com