เปิดบันทึกลับ... ประสบการณ์อันเจ็บปวด " ผู้หญิงตั้งท้องเมื่อไม่พร้อม"
กนกวรรณ ธราวรรณ นักวิชาการอิสระ ผู้สนใจศึกษาเรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะประเด็นหญิงตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อมหรือการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ได้นำเสนอเรื่อง " การทำแท้ง : ความรุนแรงในเพศวิถีปิตาธิปไตย" ในการสัมมนาวิชาการสตรีศึกษาครั้งที่ 6 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไว้อย่างฉะฉานและน่าสนใจว่า
เธอเริ่มวิจัยเรื่อง " บันทึกประสบการณ์ของผู้หญิงที่ตั้งท้องเมื่อไม่พร้อม" ตั้งแต่ปลายปี 2542 และพบว่า ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน การทำแท้งเป็นการกระทำผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301-305 แต่จะมีการผ่อนผันไม่เอาผิดในกรณี การท้องนั้นเกิดจากการถูกข่มขืน หรือผ่านการวินิจฉัยโดยแพทย์ว่าท้องนั้นเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพหญิง
หากแต่การท้องไม่พร้อมจนนำไปสู่การเลือกวิถีทาง " ทำแท้ง" ซึ่งถือเป็นความผิดตามกฎหมายนี้ เป็นการบังคับทางอ้อมให้ผู้หญิงต้องไปใช้บริการคลีนิคเถื่อน
กนกวรรณได้คลี่ม่านมายาสังคมว่า การทำแท้งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นใจแตกเท่านั้น ยังมีหญิงวัยทำงาน หญิงวัย 40-50 ปี หรือหญิงมีครอบครัวถูกต้องตามศีลธรรมอีกจำนวนหนึ่งต่างประสบภาวะนี้เช่นกัน
พวกเธอมีเหตุผลของความไม่พร้อม อาทิ ปัญหายังไม่สมรส , กำลังศึกษาอยู่ , ฝ่ายชายมีครอบครัวแล้ว , ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ , ขัดกับอาชีพการงาน การคุมกำเนิดผิดพลาด แต่จากการศึกษาหญิงที่มีประสบการณ์ท้องไม่พร้อม 66 ราย พบว่า ผู้หญิงทุกวัย ทุกสถานภาพสมรส ทุกระดับการศึกษาและทุกอาชีพ พูดเหมือนกันหมดว่า ท้องที่เกิดขึ้นนั้น "เป็นความไม่พร้อม" ไม่มีใครใจไม้ไส้ระกำบอกว่า "ไม่อยากได้" อย่างไร้เยื่อใย และหลายคนมีแนวความคิดว่าการท้องไม่พร้อมไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่เป็นเรื่องผลแห่งจังหวะชีวิต ชะตากรรม เข้าทำนอง ไม่เจอเองไม่รู้!!!
ทั้งนี้ ผู้ศึกษาระบุว่า มีความเข้าใจผิดสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขในสังคมไทยอยู่ 2 ประการ คือไม่ควรเหมารวมว่า ผู้หญิงตั้งท้องตอนไม่พร้อมจะทำแท้งเสมอไป และการตั้งท้องไม่จำเป็นต้องเกี่ยวพันกับความเป็นแม่ หากผู้หญิงคนนั้นไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นแม่ เพราะความเป็นแม่ไม่ได้เกิดง่ายๆ เพียงแค่ผู้หญิงคนหนึ่งตั้งท้อง เช่นเดียวกับที่ความเป็นพ่อไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพียงเพราะผู้ชายคนหนึ่งทำให้ผู้หญิงตั้งท้อง ความเป็นแม่และความเป็นพ่อเกิดขึ้นเมื่อคนๆ หนึ่งพร้อมที่จะอุ้มชูฟูมฟักดูแลลูกที่เกิดมาอย่างเต็มที่
" มักมีคนเหมารวมว่า ถ้าอนุญาตให้มีการทำแท้ง ผู้หญิงจะเฮโลไปทำแท้งจนเกิดการทำแท้งเสรี ซึ่งเรื่องนี้เป็นความคิดและคำพูดที่ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ในที่นี้หมายถึงการให้ทางเลือกแก่ผู้หญิงที่ท้องแต่ไม่พร้อมจะมีลูกได้สามารถยุติการตั้งท้องที่ไม่พร้อมนั้นได้อย่างปลอดภัย ส่วนผู้หญิงที่เลือกจะท้องต่อไปจนครบกำหนดคลอดก็สามารถทำได้
เชื่อหรือว่าการทำแท้งเสรีมีอยู่จริง คุณคิดดูว่าในสังคมบ้านเรา มีการหล่อหลอมมาแบบนี้ ต่อให้เขาทำแท้งถูกกฎหมาย เขาก็ต้องคิดถึงความผิดบาป ศีลธรรมอยู่บ้าง มันไม่ได้ทำด้วยความสบายอกสบายใจ นี่ไม่ใช่การสนับสนุน แต่ใครที่คิดจะทำอย่างไรเขาก็ทำ แต่ต้องให้เขาได้ทำอย่างปลอดภัย ผู้หญิงแต่ละคนอยู่ในภาวะวิกฤตแตกต่างกัน ไม่มีใครสามารถกำหนดแนวทางแก้ปัญหาเพียงแนวทางเดียวแล้วใช้ได้กับผู้หญิงทุกคน"
สำหรับข้อเสนอต่อการแก้ไขเรื่องดังกล่าว นอกเหนือจากการแก้ไขกฎหมายแล้ว กนกวรรณเสนอให้มีการแก้ไขกฎระเบียบทุกประเภทที่เป็นอุปสรรคต่อการตั้งท้องและมีบุตรของผู้หญิง เช่น ผู้หญิงที่มีคำนำหน้าว่านางสาวสามารถตั้งท้องและมีลูกได้ และลูกมีสิทธิใช้นามสกุลแม่ โดยไม่ผิดวินัยข้าราชการหรือกฎองค์กรใดๆ และควรให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา เริ่มตั้งแต่การรู้จักร่างกายส่วนต่างๆ
" ผู้หญิงไทยไม่รู้จักเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง อย่าไปรังเกียจความรู้เรื่องเพศศึกษามันไม่ใช่เรื่องเพศสัมพันธ์เราต้องได้รับความรู้อย่างรอบด้าน ครบถ้วน และถูกต้อง เพื่อให้ผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาสามารถพิจารณาข้อมูลและทางเลือกต่างๆ และตัดสินใจด้วยตัวเองว่า จะแก้ไขวิกฤตในชีวิตได้อย่างไร สรุปรวมก็คือ การทำแท้งต้องไม่ผิดกฎหมาย บริการต้องปลอดภัย ถูก เข้าถึงง่าย มีบริการให้คำปรึกษาก่อนและหลังทำเพื่อสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง"
แหล่งที่มา หนังสือพิมพ์มติชน