หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญภายในร่างกาย
มีหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปฟอกที่ปอดและส่งเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย หัวใจเป็นอวัยวะ
ที่มีความแข็งแรงทนทานมาก
หัวใจคนเราเริ่มเต้นตั้งแต่ที่เป็นตัวอ่อนอยู่ในครรภ์มารดา
ตอนอายุตัวอ่อนเพียง 22 วันและก็จะเต้นตลอดไป แต่กระนั้นก็ตาม หัวใจก็เหมือนกับอวัยวะอื่นๆภายในร่างกาย
ที่สามารถเกิดความผิดปกติหรือโรคขึ้นได้
โรคหัวใจ ในผู้ใหญ่สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้
1. โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน(Coronary artery disease)
2. โรคลิ้นหัวใจ และความผิดปกติเกี่ยวกับเส้นเลือดแดงเอออร์ตา(Valvular and aortic
disease)
3. โรคหัวใจโตจากโรคความดันโลหิตสูง(Hypertensive heart disease)
4. โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดที่พบในผู้ใหญ่(Congenital heart disease in adults)
5. โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ(Cardiomyopathy)
6. หัวใจเต้นผิดจังหวะ(Cardiac arrhythmia)
7. โรคที่เกี่ยวกับเยื่อหุ้มหัวใจ(Pericardial disease)
เนื่องจากเนื้อหาเกี่ยวกับโรคหัวใจ
ชนิดต่างๆ มีมาก ดังนั้นในบทความนี้จะขอกล่าวโดยย่อก่อน หากมีผู้สนใจเรื่องใด
จะจัดทำเป็นบทความเฉพาะเรื่องอีกครั้ง
โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน(Coronary
artery disease)
เกิดจากส่วนของคราบสะสมไขมันที่เราเรียกว่า
พล็าค(Atherosclerotic plaque) เกาะบริเวณภายในผนังหลอดเลือดแดง โคโรนารี่ จนเกิดการตีบตัน
เป็นผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในที่สุด และถ้าแผ่นคราบไขมันเกิดการแตกหรือฉีกขาด
จะทำให้เกร็ดเลือด จำนวน มาก มาเกาะและอุดตันรูเส้นเลือดอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดโรคเส้นเลือดแดงโคโรนารี่อุดตันเฉียบพลัน
เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รุนแรงหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย
โรคลิ้นหัวใจ และความผิดปกติเกี่ยวกับเส้นเลือดแดงเอออร์ตา(Valvular
and aortic disease)
โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ
ที่พบบ่อย ได้แก่
- โรคหัวใจรูห์มาติค(Rheumatic heart disease)
มักเป็นที่ลิ้นหัวใจไมตรัล
(อาจทำให้เกิดลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ และ/หรือ รั่ว)และลิ้นหัวใจเอออร์ติค (ซึ่งทำให้เกิดลิ้นหัวใจ
เอออร์ติครั่ว)
โรคหัวใจรูห์มาติค เป็นผลที่ตามมาจากโรคติดเชื้อไข้รูห์มาติค
ซึ่งมักเป็นหลังจากการติดเชื้อไปประมาณ 10-20 ปี แต่ก็ไม่ได้ เกิดขึ้น ทุกรายที่มีโรคติดเชื้อไข้รูห์มาติค
โรคติดเชื้อไข้รูห์มาติค(Rheumatic
fever) เป็นผลตามมาหลังจากการติดเชื้อคออักเสบ จากเชื้อ Streptococcus group
A ซึ่งมักเป็นหลังจากเกิดคออักเสบ 2-4 สัปดาห์ ส่วนอาการแสดงของโรคไข้รูห์มาติคมีหลายแบบ
ในรายที่มีหัวใจอักเสบร่วมด้วย ก็จะมีผลตามมาคือเกิด โรคหัวใจรูห์มาติคในภายหลังได้
- โรคลิ้นหัวใจอักเสบติดเชื้อ(Infective endocarditis)
ในรายที่มีประวัติฉีดยาเสพติดเข้าเส้นมักทำให้เกิดลิ้นหัวใจไตรคัสปิดติดเชื้อและเกิดการรั่ว
- โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติคตีบ
ซึ่งมักพบในคนสูงอายุ
ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเป็นลมหมดสติเฉียบพลัน อาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจ ขาดเลือด
และภาวะหัวใจ ล้มเหลวได้ นอกจากนี้ยังมีภาวะ ที่เกิดลิ้นหัวใจรั่วโดยไม่ได้เกิดพยาธิสภาพที่ลิ้นหัวใจโดยตรง
กลุ่มนี้มักเป็นจากหัวใจที่โตขยาย
ขนาดออกทำให้ลิ้นหัวใจซึ่งไม่ได้ยาวตามขนาดหัวใจที่เพิ่ม ปิดกันไม่สนิท ทำให้เกิดการรั่วตามมา
มักพบสภาวะนี้ที่ลิ้นหัวใจ ไตรคัสปิด และลิ้นหัวใจไมตรัล
โรคหัวใจโตจากโรคความดันโลหิตสูง(Hypertensive heart disease)
ในผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูงเพียงอย่างเดียว
เมื่อไม่ได้รับการรักษาปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่นาน ก็จะทำให้
ผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้นโดยเฉพาะหัวใจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือหัวใจห้องล่างซ้ายซึ่งต่อตรงกับเส้นเลือดแดงเอออร์ตา
เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัว (Left ventricular hypertrophy) ซึ่งทำให้การคลายตัวของหัวใจผิดปกติ
และอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
โรคหัวใจแต่กำเนิดที่พบในผู้ใหญ่(Congenital heart disease in adults)
ที่พบบ่อยในทางคลินิก
ได้แก่
- ผนังหัวใจด้านบนรั่ว (Atrial septal defect)
โอกาสจะปิดเองได้มีน้อย
(ประมาณ 4%) ส่วนใหญ่รูรั่วจะขยายขนาดออกเมื่อโตขึ้น ในรายที่มีอาการจากรูรั่ว(เช่นเหนื่อย
หัวใจล้มเหลว)หรือมีเลือดไหลผ่านรูรั่วมากๆ แพทย์จะทำการผ่าตัดปิดรูรั่ว ซึ่งในการรักษาปัจจุบันนอกจากการผ่าตัดแล้ว
ยังมีวิธีการ อุดรูรั่ว โดยไม่ต้องผ่าตัดโดยใช้อุปกรณ์ลักษณะคล้ายร่มใส่เข้าทางสาย
สวนหัวใจที่แทงผ่านผิวหนังเข้าไปอุดรูรั่วดังกล่าว
..ดูตัวอย่างอุปกรณ์อุดรูรั่วที่มีชื่อว่า Amplatzer septal
occluder
- ผนังหัวใจด้านล่างรั่ว (Ventricular septal
defect)
- การมีท่อเชื่อมต่อระหว่างเส้นเลือดแดงเอออร์ตาและเส้นเลือดแดงพัลโมนารี่
( Patent ductus arteriosus)
- เส้นเลือดแดงเอออร์ตาตีบคอด (Coartation of Aorta)
มักจะเป็นที่เส้นเลือดแดงเอออร์ตาบริเวณทรวงอก
ในผู้ชายเป็นบ่อยกว่าผู้หญิง 2-5 เท่า
โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ(Cardiomyopathy)
แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
- กล้ามเนื้อหัวใจโป่งพอง (Dilated cardiomyopathy)
- ผนังกล้ามเนื้อหัวใจโต (Hypertrophic cardiomyopathy)
- กล้ามเนื้อหัวใจถูกบีบรัด (Restrictive cardiomyopathy)
หัวใจเต้นผิดจังหวะ(Cardiac arrhythmia)
แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักคือ
- กลุ่มหัวใจเต้นเร็ว (Tachyarrhythmia)
- กลุ่มหัวใจเต้นช้า (Bradyarrhythmia and conduction disturbances)
โรคที่เกี่ยวกับเยื่อหุ้มหัวใจ(Pericardial disease)
ที่พบบ่อยมี 2 โรค คือ
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis)
อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ
ที่พบบ่อยได้แก่ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ ไวรัส, แบคทีเรีย, วัณโรค,
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ จากโรคไตวาย
- การมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardial effusion)
อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ
ได้แก่ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย, เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ, การถูกกระแทกบริเวณหน้าอก,
การติดเชื้อเอดส์, โรคมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม, ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติ
เป็นต้น
ในรายที่เป็นมากโดยเฉพาะถ้าเป็นแบบเฉียบพลัน
น้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจจะกดบริเวณผนังหัวใจโดยตรงโดย เฉพาะหัวใจ ด้านขวาทำให้การไหลของเลือดเข้าหัวใจไม่สะดวก
ผลคืออาจทำให้ เกิดความดันโลหิตต่ำและช็อคจนเสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับ การเจาะดูด
เอาน้ำออกจากช่องเยื่อหุ้มหัวใจทันท่วงที
back to TOP
เรียบเรียงโดย Doctor Heart
|